การจัดการมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม

ความเสี่ยง

นิคมอุตสาหกรรมของอมตะในประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,100 โรงงานที่ดำเนินกิจการในปัจจุบัน มีพนักงานทำงานในโรงงานกว่า 260,000 คน สร้างขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลในแต่ละปี หากการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานด้านขยะ ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อชุมชนโดยรอบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจมีผลกระทบต่อการขออนุญาตเพื่อการขยายกิจการของบริษัทฯ ในอนาคต 

โอกาส

การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าจากขยะด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ   และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และได้รับการยอมรับจากชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบด้วย 

แนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างขยะจนถึงการกำจัดขยะ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการบริหารจัดการของเสียเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมให้น้อยที่สุด ด้วยการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และหลักวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้มีการรีไซเคิลและการนำกลับไปใช้ใหม่ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดการเกิดขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ขยะที่บริษัทฯ รับผิดชอบ เป็นขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมไม่อันตรายเท่านั้น ส่วนของเสียอันตรายนั้น โรงงานอุตสาหกรรมต่างดำเนินการจัดการเอง ภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 

บริษัทฯ มอบหมายให้ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (AFS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งในประเทศไทย โดยใช้แนวทางในการบริหารจัดการขยะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  และตามขอบเขตอำนาจในความรับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะ ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้บริการจัดการขยะมูลฝอยของบริษัทฯ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 567 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 248 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 83.14 และ 66.31 ของโรงงานทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 

 

การกำจัดขยะมูลฝอยตามเป้าหมาย Zero Waste to Landfill

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบของการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบของการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบให้มากที่สุด โดยนำหลักการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก และกำจัดขยะมูลฝอย ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2554 และกำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานไปที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง  

บริษัทฯ มีการดำเนินการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยผู้รับเหมาที่โรงงานคัดแยกขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และส่งไปกำจัดโดยวิธีต่าง ๆ โดยผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตในการกำจัดขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมตามกฎหมาย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแนวทางบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ในการให้คำแนะนำโรงงานที่ใช้บริการกำจัดขยะมูลฝอยของบริษัทฯ ในการคัดแยก จำแนกประเภทของขยะมูลฝอยก่อนส่งมายังโรงคัดแยกขยะ เพื่อให้ขยะที่เข้าสู่กระบวนการคัดแยกนั้นมีคุณภาพ สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเชื้อเพลิงขยะ และขยะรีไซเคิล และเหลือขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ที่ต้องกำจัดโดยวิธีฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย 

การจัดการขยะมูลฝอยในนิคมอุตสาหกรรม

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ให้บริการจัดการขยะมูลฝอยแก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 27,974.92 ตัน แบ่งออกเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 21,195.28  ตัน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 6,779.64 ตัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกของพนักงานคัดแยกขยะ การปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะจากการส่งไปฝังกลบ เป็นการคัดแยกขยะรีไซเคิล และการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนในรูปแบบเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived fuel: RDF) เพื่อส่งต่อไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระบวนการเผาในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยสามารถคัดแยกขยะรีไซเคิลจากขยะมูลฝอยคิดเป็นร้อยละ 10.70  ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่จัดการในอาคารคัดแยกขยะของบริษัทฯ และมีขยะมูลฝอยที่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived fuel: RDF) ได้ ร้อยละ 89.30 ทำให้บริษัทฯ สามารถลดปริมาณขยะที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบเหลือร้อยละ 0 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่จัดการในอาคารคัดแยกขยะของบริษัทฯ  

สืบเนื่องการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563-2565 ที่ผ่านมา ทำให้มีขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งในสำนักงานของบริษัทฯ และภายในโรงงานของลูกค้าตามมาตรการป้องกันตนเองเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK (Rapid Antigen Test Kit) แม้ว่าขยะติดเชื้อเหล่านี้จะมีปริมาณไม่มากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปริมาณขยะมูลฝอยที่บริษัทฯ ให้บริการจัดการกับลูกค้า แต่จำเป็นต้องใช้บริการผู้รับกำจัด หรือผู้รับเหมาที่ได้รับอนุญาตให้กำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้องตามกฎหมาย และการแยกส่งกำจัดด้วยตนเองของแต่ละโรงงานทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดค่อนข้างสูง จึงเกิดความต้องการใช้บริการกำจัดขยะติดเชื้อซึ่งเป็นขยะมูลฝอยประเภทใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้ทำการพัฒนาบริการกำจัดขยะติดเชื้อ ด้วยการคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ในการให้บริการลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง โดยที่บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบ และติดตามเส้นทางการจัดการขยะด้วยระบบ GPS ที่ติดตั้งในรถขนส่งขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงเตาเผาขยะติดเชื้อ (Infectious Waste Incinerator) พร้อมรายงานผลเส้นทางการขนส่งให้ลูกค้ารับทราบแบบ Realtime เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยในปี 2565 มีขยะติดเชื้อที่ส่งกำจัดทั้งสิ้น 23.49 ตัน คิดเป็นปริมาณร้อยละ 0.8 ของขยะทั้งหมดที่บริษัทฯ บริหารจัดการในปี 2565 

การจัดการขยะตามแนวทาง Zero Waste to Landfill ทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการจัดการขยะมูลฝอยลงได้ 2.4 ล้านบาทในปี 2565 และผู้ประกอบการร้อยละ 80 ที่ใช้บริการการจัดการขยะของบริษัทฯ พึงพอใจและมีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการขยะของบริษัทฯ ว่าไม่มีการนำขยะออกไปจัดการอย่างผิดกฎหมาย ชุมชนในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีความมั่นใจในการจัดการขยะของโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น  

การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการขยะ

นอกจากนี้การนำหลักการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ของขยะรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เช่น การนำขยะพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกแล้วหรือเป็นของเสีย มาเป็นส่วนประกอบของการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิล (Plastic Road) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ปัจจุบันบริษัทฯ ดำเนินการเทถนนจากขยะพลาสติก ไปแล้ว 3 จุด รวมระยะทาง 1,990 เมตร และใช้ขยะพลาสติกในโครงการนี้จำนวน 16.89 ตัน และในปี 2565 มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้โรงงานส่งพลาสติกมาร่วมโครงการจัดทำถนนพลาสติก จุดที่ 4 ซึ่งมีโรงงานสนใจร่วมส่งพลาสติกมาให้แล้ว จำนวน 14 บริษัท ปริมาณรวม 2,039 กิโลกรัม
บริษัทฯ ร่วมมือกับ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พัฒนาระบบบันทึกปริมาณขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest)

บริษัทฯ พัฒนาระบบบันทึกปริมาณขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest) ร่วมกับ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารข้อมูลการจัดเก็บขยะภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล ยกระดับผู้ให้บริการเก็บขนส่ง และลูกค้าผู้ใช้บริการสามารถทราบปริมาณขยะที่ถูกจัดเก็บได้แบบ Realtime สร้างความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจในการกำจัดขยะ พร้อมมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และด้วยสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ยังช่วยลดการสัมผัสกระดาษระหว่างผู้เก็บขนและลูกค้า เป็นการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์แทน  ซึ่งในปี 2565 ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เข้าใช้บริการระบบเรียบร้อยแล้วทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100  และในอนาคตจะขยายไปใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ต่อไป

บริษัทฯ ร่วมมือกับ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี พัฒนาระบบบันทึกปริมาณขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest) • บริษัทฯ มุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของกระดาษ

บริษัทฯ ส่งเสริมการลดการใช้กระดาษในสำนักงานและสนับสนุนให้เกิดการนำไปใช้ซ้ำและการรีไซเคิลกระดาษตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการกระดาษเก่า แลกกระดาษใหม่ Paper X : The Value of your waste” เพื่อนำกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯ มารีไซเคิล และแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2565 มีกระดาษใช้แล้วที่นำมารีไซเคิลในโครงการ ปริมาณ 744 กิโลกรัม 

 

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะให้กับลูกค้า

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบที่เกิดจากการจัดการขยะอันตรายและไม่อันตรายอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับของโรงงานที่ไม่ได้ใช้บริการการจัดการขยะมูลฝอยของบริษัทอมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (AFS)  บริษัทฯ จึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดโครงการ “รางวัลการจัดการขยะอุตสาหกรรมและมูลฝอยในโรงงาน (AMATA Best Waste Management Awards)” เป็นกิจกรรมประจำปีต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะอุตสาหกรรมประเภทไม่อันตราย ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลภายในโรงงานให้ดียิ่งขึ้น โดยการนำหลักการจัดการ 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle principle) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการขยะ ซึ่งส่งผลให้โรงงานสามารถลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายให้ลูกค้ามีการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางภายในโรงงานที่มีประสิทธิภาพก่อนส่งมายังโรงงานคัดแยกขยะ เพื่อเพิ่มอัตราส่วนขยะที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และขยะรีไซเคิล 

ในปี 2565 มีโรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 81 บริษัท โดยโรงงานทั้งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีความสนใจเข้าร่วมมากขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 72 บริษัท ซึ่งในปีนี้ได้มีการปรับเกณฑ์การตรวจประเมินให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปรับรูปแบบการตรวจประเมินให้สอดคล้องกับหลัก New Normal โดยมีทั้งการตรวจประเมินแบบ Online และ แบบ Onsite ตามความเหมาะสมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น 

โดยในปี 2565  มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการ ผ่านช่องทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ทั้งหน้าเว็บไซด์ ไลน์กลุ่มทางการของบริษัทฯ ไลน์กลุ่มย่อย ประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารการสมัครพร้อมหลักฐานแนบ ผ่านระบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์  การตรวจประเมินโครงการ การให้คำปรึกษา มีทั้งผ่านระบบออนไลน์ และตรวจประเมินในพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตามความต้องการของโรงงานเป็นหลัก 

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes